ประเพณีไทยกับการฝังศพมนุษย์ในประเทศไทยจากหลักฐานโบราณคดี

ใส่ความเห็น

พฤศจิกายน 15, 2012 โดย pyopyo

ประเพณีไทยและการฝังศพ ยุคหินกลาง ในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ ๑๑,๐๐๐ ปี ถึง ๘,๕๐๐ ปีมาแล้ว ที่ถ้ำพระ ตำบลไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี โดยคณะสำรวจก่อนประวัติศาสตร์ไทย-เดนมาร์ก ได้ขุดค้นหลักฐานของคนสมัยหินกลาง ๒ อย่างคือ โครงกระดูกคนสมัยหินกลาง และ เครื่องมือหินกะเทาะที่ประณีตของคนสมัยหินกลาง เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ ได้ขุดค้นพบโครงกระดูกคนสมัยหินกลาง ๑ โครง

โดยโครงกระดูกนั้นนอนหงายชันเข่าอยู่บนก้อนหินก้อนใหญ่แท่งหนึ่งในแนวเกือบขนานกับผนังเพิงผา นอนหันหน้าไปด้านขวามือ ศีรษะหันไปทางทิศเหนือ ฝ่ามือขวาอยู่ใต้คาง แขนท่อนซ้ายวางพาดอก ที่บริเวณส่วนบนของร่างและบริเวณทรวงอก มีหินควอทซ์ไซท์ก้อนใหญ่วางทับอยู่ กระดูกแขนขาบอบบาง มีหินควอทซ์ไซท์ทับอยู่ที่โครงกระดูก ทำให้โครงกระดูกบางตอนบุบผิดผิดรูปไปดินตอนที่อยู่เหนือศีรษะและร่างมีดินสีแดงคลุมอยู่ แสดงว่าในครั้งนั้นมีพิธีกรรมเกี่ยวกับการฝัง การใช้ดินสีแดง (ดินเทศ) อันหมายถึงสีเลือดและชีวิตโปรยร่างผู้ตาย

ในสมัยหินกลางนี้เป็นประเพณีทำกันอยู่ตลอดแหลมมลายูและหมู่เกาะอินโดนีเซีย ในทวีปยุโรปศพคนสมัยหินกลางก็อยู่ในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว หรือนอนตะแคงเข่างอจดคางและมักจะฝังไว้ใต้ที่อยู่ ส่วนดินสีแดงนั้นในทวีปยุโรปที่ศพคนสมัยหินเก่าตอนปลายและสมัยหินกลางนั้น นอกจากจะมีดินสีแดงโปรยไว้เหนือโครงกระดูกคนแล้ว บางแห่งยังใช้ดินสีแดงทาไว้ที่กระดูกคนตายด้วย สิ่งของที่ฝังไว้กับศพคือ มีท่อนกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม วางอยู่บนทรวงอก เปลือกหอยกาบวางอยู่ที่บนร่างหรือใกล้กับร่างในลักษณะที่วางหงายอยู่ บางทีวางซ้อนกันอยู่เป็นกองสูงขึ้นมา

คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เริ่มฝังศพมาตั้งแต่สมัยหินเก่าตอนต้น เฉพาะในประเทศไทย ยังไม่พบหลุมศพคนสมัยหินเก่า  ประเพณีการฝังศพสมัยหินเก่าตอนปลายและสมัยหินกลางนั้นไม่ต่างกันมากนัก  ศพจะฝังอยู่ในลักษณะคล้ายท่านอน บางศพก็นอนหงายเหยียดท่าตรง บางศพนอนตะแคงเข่างอเกือบถึงคาง ร่างของผู้ตายโดยเฉพาะจะมีแผ่นหินวางป้องกันอยู่ นอกจากนี้ยังใส่อาหาร เครื่องมือหรือของอื่น ๆ ลงไปให้ศพด้วยเช่น ดินแดง เปลือกหอย เครื่องรางและเครื่องประดับ เพราะเชื่อว่าผู้ตายจำเป็นต้องใช้สิ่งดังกล่าวระหว่างเดินทางไปยังเมืองผี และเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้กลับมีชีวิตขึ้นอีก ทั้งจะเป็นเครื่องบอกฐานะของตนเมื่อไปถึงยังอีกโลกหนึ่ง

ยุคหินใหม่ ในประเทศไทย คือระหว่าง ๓,๘๗๙ ปี ถึง ๑,๖๓๐ ปี โครงกระดูกพบที่ ตำบลกลางแดด อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ แต่ได้ถูกชาวบ้านเผาทำลาย จากการสอบถามทราบว่าพบขวานหิน กำไลหิน หินงบน้ำอ้อย เครื่องปั้นดินเผา ลูกปัดทำด้วยเปลือกหอย และลูกปัดทำด้วยกระดูกสัตว์ปะปนอยู่กับกระดูกคน และที่บ้านนาดี โนนนกทา ตำบลบ้านโคก อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ได้ขุดพบโครงกระดูกคนสมัยหินใหม่ในชั้นดินระดับที่ ๑ การฝังศพคนสมัยหินใหม่ที่บ้านนาดีมีดังนี้ คือ ศพนอนหงายเหยียดยาว ฝ่ามืออยู่ข้างตัว เท้าอยู่ใกล้กัน ศีรษะหันไปทางทิศตะวันออก สิ่งที่ฝังร่วมกับศพคือ ลูกปัดรูปแว่นขนาดเล็ก ทำด้วยกระดูก พบที่ข้อศอก ข้อมือ และรอบเอว นอกจากนั้นยังพบลูกปัดหินขัดทำเป็นรูปหลอดใหญ่ ๓ ลูก  ส่วนของที่ใส่ลงไปในหลุมมีกะโหลกศีรษะสัตว์ กระดูกสัตว์ท่อนยาว เครื่องปั้นดินเผาที่สมบูรณ์หรือทุบให้แตก ลักษณะของของที่ใส่ลงไปในหลุมและการจัดวางแตกต่างกัน

ในการขุดค้นของคณะสำรวจกรมศิลปากร-มหาวิทยาลัยฮาไว  เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ ที่บริเวณโนนนกทา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น พบหลุมศพของคนสมัยหินใหม่ มีทั้งศพผู้ใหญ่และเด็ก หลุมศพเด็กมีของใส่ลงไปมากกว่าของผู้ใหญ่  มักจะเอาหมา หมู และสัตว์กินเนื้อหรือสัตว์ที่กินทั้งเนื้อและกินหญ้าบางชนิดใส่ร่วมด้วย นอกจากนั้นยังมีลูกปัดทำด้วยกระดูก เส้นผ่าศูนย์กลางของลูกปัด มีลักษณะเป็นแว่นประมาณ ๕ มม. พวกลูกปัดนี้พบอยู่รอบตะโพก ส่วนกะโหลกหันไปทางทิศใต้

ที่หนองแช่เสา ตำบลหินกอง อำเภอเมือง ราชบุรี  คณะสำรวจก่อนประวัติศาสตร์ไทย-เดนมาร์ก สำรวจเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙ พบศพ ๒  ศพนอนเคียงกัน แต่ศีรษะอยู่ใกล้เท้าของอีกศพหนึ่ง ใกล้ ๆ โครงกระดูก มีขวานหินขัดและเครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับมีลูกปัดทำด้วยเปลือกหอย ของที่พบในบริเวณที่ขุดค้นมีขวานหินขัด ๑๓ ชิ้น จักรหิน ๑ ชิ้น เครื่องขูดขนาดเล็กทำด้วยสะเก็ดหิน ๑ ชิ้น เปลือกหอยกาบ ๕ ชิ้น

ที่โคกเจริญ อำเภอไชยบาดาล จังหวัดลพบุรี  คณะสำรวจโบราณคดีไทย- อังกฤษ ขุดค้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙ และ  พ.ศ.๒๕๑๐ พบหลุมศพ ๕๐ หลุม ศีรษะหันไปทางทิศตะวันออกหรือทิศใต้ ของที่ใส่ลงไปหลุม มีขวานหินขัดขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลูกปัดทำด้วยเปลือกหอย กำไลและเครื่องประดับหูทำด้วยเปลือกหอย เครื่องปั้นดินเผาอยู่ที่เหนือศีรษะและปลายเท้า เครื่องปั้นดินเผามีร่องรอยแสดงว่าทุบให้แตกเมื่อฝังลงไป

ที่กาญจนบุรีพบโครงกระดูกหินสมัยหินใหม่จำนวนมาก เช่น บริเวณกรมการสัตว์ทหารบก อำเภอเมืองกาญจนบุรี โครงกระดูกที่พบหันศีรษะหลายทิศทาง ยกเว้นทิศตะวันออกและทิศตะวันตก โดยคนสมัยหินใหม่ที่บ้านเก่าไม่ฝังศพหันไปทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เด็กให้ฝังโดยหันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้หรือทิศใต้ หญิงนิยมหันไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกเฉียงใต้ก็มีบ้าง ชายนิยมหันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศเหนือไม่นิยม

ทิศทางในการฝัง  ทิศทางที่ศีรษะของโครงกระดูกหันไปทิศใดนั้น มักจะเป็นแนวชี้ทางที่คนตายจะไป เมื่อวิญญาณเคลื่อนออกจากร่าง ซึ่งอาจจะไปสู่ที่หมายสุดของวิญญาณ หรือเป็นที่ซึ่งอยู่ไกลจากที่อยู่ในโลกมนุษย์และไกลออกจากคนเป็น เช่น ในอินโดนีเซีย จะฝังศพให่หันไปทางทิศตะวันตก เพราะเขาเชื่อว่า จะมีโพรงที่จะลงไปสู่เมืองบาดาล พวกเซมังในประเทศมาเลเซีย เชื่อว่าคนตายจะไปสู่แดนที่มีต้นสน ณ ที่นั้นจะมีโพรง ซึ่งอาทิตย์จะตกลงไปในเวลากลางคืน เป็นต้น ดังนั้นในหลาย ๆ วัฒนธรรมล้วนมีความเชื่อว่าคนตายจะต้องเดินทางไปยังดินแดนหลังความตาย จึงพบว่าการฝังศพโดยหันศีรษะไปยังทิศทางใดทิศทางหนึ่งนั้น จึงมีความหมายและความเชื่อประกอบอยู่ด้วย

สิ่งของเครื่องใช้ที่ฝังร่วมกับโครงกระดูก   การฝังศพนั้นใส่อาหาร เครื่องใช้และเครื่องประดับลงไปด้วย เพราะเชื่อว่าผู้ตายยังต้องใช้ของเหล่านี้ พวกซาไกในแหลมมลายู เชื่อว่าก่อนที่วิญญาณจะเดินทางไปสู่อีกโลก วิญญาณจะอยู่ที่หลุมชั่วระยะหนึ่ง การไปยุ่งเกี่ยวกับเครื่องใช้ของผู้ตายจะทำให้ผู้ตายโกรธแค้น ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยสิ่งของที่ฝังลงไป จึงต้องทำพิธีทำลายสิ่งของเหล่านั้นเสีย

บางแห่งนิยมฝังสิ่งของของผู้ตายลงไปและฝังสิ่งที่ยังมีชีวิตลงไปด้วย เช่น นอกสุสานของกษัตริย์สุเมเรียนที่  เออร์ (Ur) มีโครงกระดูกคน ๖๒ โครง ที่ในสุสานก็มีคนฝังลงไปด้วยอย่างน้อย ๓ คน เป็นต้น หรืออาจเป็นการจำลองของจริงฝังร่วมด้วย เพราะเชื่อว่าผู้มีอิทธิฤทธิ์ที่จะใช้ของจำลองได้เท่ากับของจริง เช่น ที่อียิปต์ เป็นภาพเขียน ส่วนในจีนกลับใช้เครื่องปั้นดินเผาแทน

ประเพณีการฝังสิ่งของแก่ผู้ตายนี้  แสดงออกซึ่งความห่วงใยของคนเป็นและความกลัวของผู้ตาย เพราะไม่ต้องการให้ผู้ตายเกิดความหิว  หรือความเคียดแค้น  คนเป็นจึงใส่เครื่องรางหรือของที่มีอำนาจลงไปในหลุมด้วย

ส่วนของประเทศไทยสมัยหินใหม่ที่กาญจนบุรี พบว่า มีประเพณีที่ใส่สิ่งของเครื่องใช้ลงไปให้ศพด้วย  คงมีความเชื่อเช่นเดียวกันว่าผู้ตายอาจจะต้องการสิ่งของเหล่านั้น ของที่เลือกใส่ลงไป ก็เลือกแต่ชิ้นที่ยังสมบูรณ์ไม่แตกหัก ของที่ใส่ลงไปมีดังนี้  เครื่องปั้นดินเผา ขวานหิน  อาวุธ เครื่องประดับ และของอื่น ๆ เครื่องปั้นดินเผามักจะวางไว้เหนือศีรษะ ปลายเท้า ระหว่างตักกับหัวเข่า จำนวนอย่างน้อย ๑ ใบ มากสุด ๑๒ ใบ

ยุคสำริด เมื่อคนตาย ญาติจะฝังลงไปในหลุมที่แคบและตัน ศพจะนอนอยู่ใต้กองเศษเครื่องปั้นดินเผา ของที่ใส่ลงไปในหลุมศพ มีภาชนะดินเผา ซึ่งมีขนาดเล็กและมีจำนวนน้อยใบ ศีรษะของศพจะอยู่ที่มุมหนึ่ง อีกมุมหนึ่งจะมีกระดูกวัววางอยู่ บางรายกระดูกขาวัววางทับร่างส่วนล่างขึ้นมาจนถึงกระดูกเชิงกราน นอกจากนั้นยังพบเครื่องปั้นดินเผา กำไลทำจากเปลือกหอย หรือกำไลสำริดขวานสำริด โดยตำแหน่งหัวขวานทำมุมในลักษณะที่มีด้ามและอยู่ในมือขวาของศพ ศพส่วนใหญ่ฝังนอนหงาย ศีรษะหนุนภาชนะดินเผา ศีรษะหันไปทางทิศตะวันออกและทิศตะวันออกเฉียงใต้

ยุคโลหะตอนปลาย ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี ทุกศพหันไปทางทิศเหนือ ที่อำเภอทัพทัน อุทัยธานี ทุกศพหันไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ที่จันเสน อำเภอตาคลี นครสรรค์ หันไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ที่ถ้ำงวงช้าง อำเภอเชียงดาว จ.เชียงใหม่ หันไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ สิ่งของที่ฝังไปกับศพมีเครื่องปั้นดินผา อาวุธ เช่น หอก และขวาน วางไว้ที่เหนือศีรษะหรือปลายแขน นอกจากนั้นยังมีดินเผากะเทาะเป็นแผ่นกลมคล้ายเบี้ยที่ใช้เล่นโยนหลุมทอยกอง ลูกดินเผาคล้ายกระสุนและแวดินเผาลงไป บางศพพบลูกพรวนสำริดด้วย

ที่มา: http://xn--12c0bmop0abc6c1dg9c9hnc6f.blogspot.com

ใส่ความเห็น

เจ้าของบล้อก


ประเพณีไทยความเชื่อและพิธีกรรม