ดาวน์โหลด

ใส่ความเห็น

 

ประเพณีการฝังศพของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

สมัยก่อนประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ตอนต้น

ดร.โขมสี แสนจิตต์[๑]

 

บทนำ : คติ ความเชื่อ พิธีกรรม เกี่ยวกับการตายและประเพณีการฝังศพ

เดิมเราเชื่อว่าร่างกายคนย่อมมีสิ่งหนึ่งสิงอยู่ เมื่อสิ้นลมหายใจแล้ว แต่สิ่งที่สิงอยู่ในร่างกายยังคงอยู่ ไม่ตายไปตามร่างกาย เซอร์เจมส์เฟรเซอกล่าวอธิบายไว้ในหนังสือ The Gloden Bough ว่า มนุษย์สมัยป่าเถื่อนย่อมอธิบายลักษณะแห่งความเป็นไปของธรรมชาติในส่วนที่ไม่มีชีวิตว่า มีอำนาจอะไรอย่างหนึ่งซึ่งมีชีวิต เป็นผู้จัดให้มีขึ้นหรือให้เป็นไปตามนั้น เช่น คนเรามีชีวิตและเคลื่อนไหวได้ เพราะมีคนเล็ก ๆ หรือสัตว์เล็ก ๆ สิงอยู่ในร่างกายคน สัตว์ก็มีสัตว์น้อย ๆ อยู่ในตน คนก็มีคนน้อย ๆ อยู่ในตน เรียกกันว่า วิญญาณ วิญญาณทำให้สิ่งมีชีวิตกระดุกกระดิกได้ ถ้าคนเรานอนหลับหรือตายไป วิญญาณก็จะออกจากร่างชั่วคราว แต่ถ้าตายไปก็จะออกจากร่างกายไปอย่างเด็ดขาด[๒]

คติความเชื่อในเรื่องของความตายมีมากมายหลายรูปแบบ แต่ละชุมชนก็แตกต่างกันในรายละเอียด แต่มีประเด็นหลักที่น่าจะมาจากแนวคิดเดียวกันคือ ความหวาดกลัววิญญาณหรือผีของผู้ตาย ปรานี วงษ์เทศ กล่าวไว้ว่า[๓] เมื่อผู้ตายตายไปจะเปลี่ยนสภาพเป็นวิญญาณที่ดุร้ายและอาจนำอันตรายมาสู่คนได้ จึงจำเป็นต้องมีพิธีกรรม ขั้นตอนต่าง ๆ ของพิธีกรรม สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อว่า ความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิตโดยสมบูรณ์ แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพจากโลกที่อยู่อาศัย หรือจากสิ่งที่มีชีวิตไปสู่อีกโลกหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วยพิธีกรรมเกี่ยวกับการแยกตัว หรือแยกคนตายออกจากความเป็นคน พิธีกรรมนี้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพ เช่น การปล่อยให้เน่าเปื่อย หรือการเผา และพิธีการรวมตัวของผู้ตายในโลกใหม่หรือในสภาพใหม่กับบทบาทใหม่ ที่แตกต่างไปจากโลกของคนเป็น

ในการทำพิธีนั้น เพื่อให้ถูกใจผีและด้วยความห่วงใยอาลัย ญาติพี่น้องจะจัดหาเสื้อหาและข้าวปลาอาหารไปไว้ที่หลุมฝังศพ เพื่อผู้ตายจะได้ใช้และกิน ไม่ขาดแคลนอดอยาก เพราะคิดว่าผีก็เหมือนคน ต้องใช้สิ่งของ ต้องกินอาหาร ถ้าผู้ตายเป็นนักรบ ญาติพี่น้องจะนำอาวุธที่เคยใช้ไปวางไว้ในหลุมฝังศพด้วยการนำของไปวางไว้ข้าง ๆ ศพ ก็เป็นคติที่นิยมทำกันในหลายประเทศรวมทั้งการฝังคน ฝังข้าทาส ลงไปด้วย[๔]

ส่วนคติในเรื่องของการอาบน้ำศพนั้น กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์เรื่องก่อนประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งกล่าวว่า มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่มนุษย์ที่ยังป่าเถื่อนในปัจจุบันนี้ ชอบเอาอะไรทาตัวเป็นเครื่องป้องกันอันตรายทั่วทุกแห่งในที่ที่มีดินแดง พวกมนุษย์ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ชอบเอาดินแดงทาตัว เมื่อดึกดำบรรพ์นั้น ด้วยเหตุว่าโลหิตเป็นกำลังของมนุษย์ ถ้าโลหิตตกย่อมหมดกำลังลง ถ้าโลหิตตกไม่หยุดก็เลยตาย พิจารณาเห็นว่าโลหิตผิดกับน้ำอื่นด้วยสีแดง จึงเชื่อว่าสีแดงอาจทำให้เกิดกำลัง จึงเอาดินแดงทาตัวเหมือนทายาบำรุงกำลัง มนุษย์จึงใช้สีแดงทาสีร่างกายที่เป็นศพ เพราะเป็นสีของเลือด[๕]        ดังนั้นผู้คนในสมัยก่อนจึงนำดินเทศ ซึ่งมีความหมายถึง เลือด นำมาโรยบนศพ เพื่อให้ผิวพรรณของศพที่ดูขาวซีด กลับดูเปล่งปลั่งราวกับมีเลือดหล่อเลี้ยงอยู่[๖]

ความหมายของความตาย (The Meaning of death)  จะปรากฏให้เห็นทั้งเป็นรูปธรรม หรืออาจเป็นนามธรรมซ่อนไว้เบื้องหลังพิธีกรรม (Ritual) ในรูปงานศพ (Funeral)  และในแต่ละกลุ่มชนจะถือลัทธิพิธีเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย (Life after Death) เป็นเรื่องทางวัฒนธรรม

แหล่งโบราณคดีที่พบประเพณีการฝังศพมนุษย์ของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

          ประเพณีการฝังศพของผู้คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทคือ การฝังศพแบบฝังยาว และการฝังศพโดยการฝังในไหโดยไม่ผ่านการเผา โดยประเพณีการฝังศพในไหเริ่มปรากฏในยุคโลหะ และมักจะสัมพันธ์กับช่วงที่มนุษย์รู้จักนำเหล็กมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ราว ๑,๐๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล และเป็นประเพณีที่สืบต่อมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น หรือบางแห่งอาจสืบต่อมาเป็นเวลายาวนาน เช่น ในลาวและเวียดนาม ได้พบในวัฒนธรรมช่วงหินใหญ่ (Megalithic Culture) ในประเทศลาว ได้ปรากฏมีโกศหินหรือไหหินจำนวนหลายพันใบที่เมืองเชียงขวาง และที่เวียดนาม เมืองทรานนินท์ (Tran Ninh) (เวียดนามเหนือ) ก็พบโกศนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑-๕ และในวัฒนธรรมซาหุญ (Sa Huynh) ที่แหล่งโบราณคดีไดลาญ (Dai lanh) (เวียดนามตอนกลาง) ซึ่งกำหนดอายุได้ราว พุทธศตวรรษที่ ๑-๕ ก็พบประเพณีการฝังศพในไหด้วยเช่นกัน[๗] ดังจะขอยกตัวอย่างในแต่ละประเทศดังนี้

ประเทศเวียดนาม หลักฐานการฝังศพในภาชนะดินเผาพบเฉพาะในวัฒนธรรมซาหุญ (Sa Huynh Culture) เท่านั้น ในระยะแรกนิยมเรียกว่า วัฒนธรรมการฝังศพในไหขนาดใหญ่ของซาหุญ (Sa Huynh Big Jar Burial) เนื่องจากปรากฏหลักฐานการฝังศพในภาชนะดินเผาใบใหญ่ กระจายตัวตามแนวสันทรายชายฝั่ง ซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ราวช่วงยุคเหล็กตอนต้น หลักฐานในวัฒนธรรมซาหุญ ได้รับการเผยแพร่เป็นครั้งแรกโดยวิเนท์ ในปี พ.ศ.๒๔๕๒ ซึ่งรายงานว่า พบสุสานการฝังศพในไหขนาดใหญ่จำนวนมากพร้อมโบราณวัตถุต่าง ๆ ได้แก่ ภาชนะดินเผา เหล็ก หิน แก้ว (เครื่องประดับ) รวมทั้งวัตถุหายากอื่น ๆ บนสันทรายชายฝั่งแคว้นซาหุญ ในจังหวัดกวางงาย (Quang Ngai)

ต่อมาได้พบร่องรอยเกี่ยวกับวัฒนธรรมซาหุญเพิ่มมากขึ้น ในบริเวณเชิงเขานอกเหนือจากที่พบจำนวนมาก แถบชายฝั่งทะเลจีนใต้ แหล่งโบราณคดีที่พบ มีทั้งที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งฝังศพ รวมถึงสถานที่สำคัญ คือ พบหลักฐานที่แสดงว่าวัฒนธรรมนี้อายุเก่าแก่ถึง ๑,๕๐๐ ปี ก่อนคริสตกาลหรือราว ๓,๕๐๐ ปีมาแล้ว แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการจากยุคสำริดเข้าสู่ยุคเหล็ก ไม่ใช่วัฒนธรรมในยุคเหล็กดังที่เคยเชื่อกันมา[๘]

วัฒนธรรมซาหุญแบ่งออกได้ ๓ ช่วงเวลา ดังนี้

๑) วัฒนธรรมซาหุญตอนต้น (Early Sa Huynh period) หรือยุคสำริดตอนต้น หรือยุคลองธาน นักโบราณคดีเวียดนามได้ค้นพบร่องรอยทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งฝังศพ ซึ่งจัดอยู่ในยุคเริ่มแรกที่แพร่กระจายไปทั่วบริเวณทางภาคกลางตอนใต้ของเวียดนาม แหล่งโบราณคดีสำคัญคือ ลองธาน (Long Thanh) พบภาชนะฝังศพที่มีรูปแบบเฉพาะตัว จำแนกได้ ๒ ประเภทคือ ไหทรงรูปไข่ และไหทรงกลม

แหล่งโบราณคดีลองธาน (Long Thanh) ถือว่าเป็นแหล่งโบราณคดีที่เก่าที่สุดของวัฒนธรรมซาหุญ เป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งฝังศพในไหใบใหญ่ ไหที่พบพร้อมกับของที่อุทิศ ได้แก่ เครื่องมือและเครื่องประดับ ทั้งยังพบว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยจริงๆ ใกล้สุสานที่มีชั้นวัฒนธรรมชัดเจน หลักฐานที่พบคือ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ทำจากหิน กระดูก ไม่พบร่องรอยวัตถุที่สำริดหรือเหล็ก

๒) วัฒนธรรมซาหุญตอนกลาง (Mid-Sa Huynh period) หรือยุคสำริดตอนปลาย หรือ ยุคบินห์ฉั่ว (Binh Chau) หรือ บัวตรัม (Bua Tram) พบทั้งที่อยู่อาศัยและแหล่งฝังศพกระจายทั่ว ๒ ฝั่งของสันทราย พบภาชนะทรงกลมมีฝาปิดเป็นรูปทรงกรวยปลายตัด อีกทั้งยังพบโบราณวัตถุที่ทำจากสำริดทั้ง ๒ แห่ง

๓) วัฒนธรรมซาหุญตอนปลายหรือ ยุคคลาสสิคซาหุญ (Late-Sa Huynh period or Classic Sa Huynh ) หรือยุคเหล็กตอนต้น วัฒนธรรมซาหุญช่วงนี้ มีการกระจายตัวอย่างกว้างขวางมากกว่าเดิม พบร่องรอยของภาชนะฝังศพเป็นหลัก และพบทั้งในที่ราบชายฝั่งทะเล ภูเขาและลานตะพักลำน้ำระดับสูง รูปแบบไหที่พบมีรูปทรงเรียวรูปไข่ และไหขนาดใหญ่ทรงกระบอกมีฝาปิด ที่ส่วนบนเป็นรูปกรวยปลายตัด โบราณวัตถุที่พบในไหใบใหญ่ได้แก่ ขวาน จอบ พลั่ว ดาบ หอก กริช หลาว มีด เคียว ลูกปัดทำจากหินมีค่าและแก้ว โบราณวัตถุชิ้นที่สำคัญที่สุดคือ ต่างหูแบบมีปุ่ม ๓ ปุ่ม และต่างหูรูปหัวสัตว์ ๒ หัว ที่ทำจากหินและแก้ว ซึ่งเป็นร่องรอยพิเศษของวัฒนธรรมซาหุญ

วัฒนธรรมในยุคโลหะของซาหุญ มีกำเนิดและพัฒนาการบริเวณทางภาคกลางค่อนลงมาทางภาคใต้ของเวียดนามตั้งแต่ยุคสำริดถึงยุคเหล็ก และขยายพื้นที่การแพร่กระจายไปยังภาคเหนือและภาคใต้ ในระยะที่มีพัฒนาการสูงสุดในยุคคลาสสิคซาหุญ[๙] ทั้งยังพบว่ามีความเก่าแก่ถึง ๓,๕๐๐ ปีมาแล้ว และแสดงถึงความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีในยุคโลหะกับมาเลเซีย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย รวมถึงแหล่งโบราณคดีในลุ่มแม่น้ำมูล-ชีของไทย[๑๐]

นอกจากนั้น ยังพบแหล่งฝังศพในวัฒนธรรมดองซอน เช่น แหล่งโบราณคดี Quy Chu ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำมา (Ma river) ราว ๒ กิโลเมตร จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่าเป็นแหล่งฝังศพในวัฒนธรรมดองซอนยุคเหล็ก จากการหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ กำหนดอายุได้ระหว่าง ๘๗๕ ถึง ๖๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ร่องรอยของมนุษย์ที่พบไม่สมบูรณ์นัก แหล่งฝังศพที่ Lang Ca พบถึง ๓๑๔  หลุมแต่ไม่พบร่องรอยของกระดูกมนุษย์ แต่จากการบันทึกพบว่าอย่างน้อยกลุ่มหลุมศพบางกลุ่มที่นี่ แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของความร่ำรวย โดยพบร่วมกับ ขวาน กริชและหอก[๑๑]

แหล่งโบราณคดี Viet Khe และ Chau Can เป็นแหล่งฝังศพที่มีหลักฐานแสดงถึงความร่ำรวยของโครงกระดูกนั้น แหล่งโบราณคดีทั้งสองพบการฝังศพในโลงรูปเรือที่ทำจากไม้ขุด โดยเฉพาะที่ Chau Can พบโลงฝังศพ ๑๐ โลงด้วยกัน โดยในโลงมีเครื่องอุทิศให้กับศพคือ ด้ามหอก ด้ามขวาน แจกันดินเผา ต่างหูทำจากดีบุกและทัพพี จากการหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ กำหนดอายุได้ราว ๕๐๐-๒๐๐ ปีก่อนคริสตกาล[๑๒] เป็นต้น

ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แหล่งโบราณคดีสำคัญ ที่พบหลักฐานการฝังศพต่างจากที่อื่น ๆ คือการบรรจุในไหที่แกะสลักจากหิน พบในบริเวณที่ราบสูงทางตอนเหนือของลาว เรียกว่า ทุ่งไหหิน อยู่ในเขตเมืองพวน แขวงเชียงขวาง พบไหหินขนาดใหญ่แกะสลักจากหินภูเขาประมาณ ๕๐๐ ใบ กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ไหขนาดใหญ่ที่สุดมีความสูงถึง ๓๒๕ เซนติเมตร บางใบหนักราว ๗ ตัน ตามตำนานท้องถิ่นของที่นี่เล่าว่า ขุนเจือง เป็นผู้สั่งให้สร้างไหหินเหล่านี้ เพื่อใช้บรรจุเหล้าในการเฉลิมฉลองชัยชนะในการทำสงครามชนะเจ้าแองกา (Chao Angka) เมื่อประมาณ ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว แต่นักวิชาการส่วนใหญ่กำหนดว่าน่าจะมีอายุราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว จากการเปรียบเทียบการใช้เครื่องมือโลหะที่ใช้ในการแกะสลักหิน

ไหหินในประเทศนี้พบในหลายๆ พื้นที่ เช่น ทุ่งไหหินที่บ้านอ่าง (Ban Ang) เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญทางตอนเหนือของลาว พบไหหินทั้งหมด ๒๙๗ ใบ เป็นไหหินทราย บางใบมีขนาดใหญ่มาก เส้นผ่านศูนย์กลางปากประมาณ ๓๐๐ เซนติเมตร และสูงถึง ๓๒๕ เซนติเมตร ทั้งยังพบฝาหินตกกระจายตามพื้นในกลุ่มเดียวกับไหหินด้วย และเมื่อขุดค้นทางโบราณคดีรอบไหหิน ก็พบโบราณวัตถุจำนวนมาก โดยเฉพาะเครื่องมือที่ทำจากสำริดและเหล็ก ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะใช้ในการแกะสลักไหหินนี้ นอกจากนั้น ยังพบลูกปัดแก้ว และลูกปัดหินคาร์เนเลียน ดินเผาไฟเขียนสีเป็นลายเรขาคณิต หอยเบี้ย กำไลและระฆังที่ทำจากสำริด ซึ่งโบราณวัตถุที่พบร่วมกับไหหินนี้ โคลานีสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเครื่องอุทิศในพิธีกรรมฝังศพ และไหเหล่านี้ใช้สำหรับบรรจุกระดูกเผาไฟ อันหมายถึงเป็นสุสานสำหรับฝังศพครั้งที่สอง

เฮนรี ปามองติเย่ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ได้จำแนกไหหินที่บ้านอ่างออกเป็น ๓ แบบ ได้แก่ แบบรูปทรงอ้วน (Squat-shape) แบบรูปทรงเพรียว (Slender shape) และแบบรูปทรงที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ส่วนโบราณวัตถุที่พบภายใน ได้แก่ ภาชนะดินเผา ขวานหิน (Hand axe)  วัตถุที่มีรูปร่างคล้ายตะเกียง แวปั่นด้ายที่ทำจากเหล็ก ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินคาร์เนเลียน ต่างหูทำจากหินหรือแก้ว ระฆังสำริดและชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสอีกคนหนึ่งคือ แมดเดอลีน โคลานี แสดงความเห็นว่าไหหินเหล่านี้ใช้สำหรับการฝังศพในยุคสำริด

นอกจากนั้น โบราณวัตถุที่พบในทุ่งไหหิน ยังมีความคล้ายคลึงกับโบราณวัตถุที่พบในวัฒนธรรมซาหุญของเวียดนามอีกด้วย จึงน่าจะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างแหล่งโบราณคดีทั้งสองแห่งด้วย[๑๓]

ประเทศพม่า ได้พบแหล่งโบราณคดีที่มีประเพณีการฝังศพมนุษย์หลายแห่งและหลายสมัยด้วยกัน เช่น แหล่งโบราณคดี Nyaunggan cemetery[๑๔] ได้รับการขุดค้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยหลุมขุดค้นที่ใหญ่ที่สุดอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ พบทั้งหมด ๒๓ หลุมฝังศพที่สามารถระบุได้ โบราณวัตถุที่เป็นสำริดได้มาจากหลุมเหล่านี้ ส่วนใหญ่ของโครงกระดูกพบในลักษณะนอนหงายเหยียดยาวซึ่งเป็นการฝังศพครั้งที่ ๑ ศีรษะของโครงกระดูกทั้งหมดหันไปทางทิศเดียวกันคือทิศเหนือ ยกเว้นโครงกระดูกหนึ่งโครงที่หันไปทางทิศใต้ สันนิษฐานว่าเป็นคนนอกพื้นที่ อีกหนึ่งหลุมซึ่งสังเกตเห็นได้ชัดว่าเป็นการฝังศพครั้งที่ ๒ นอกจากนั้นในบางโครงกระดูก ยังพบหม้อดินเผาจำนวนมากบนโครงกระดูกทั้งด้านบน ด้านซ้ายและเท้าของโครงกระดูก[๑๕] แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ กำหนดอายุได้ราว ๑,๐๐๐-๑,๕๐๐ B.C.[๑๖]

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ The Department of Archaeology ได้ขุดค้นแหล่งโบราณคดีบริเวณใกล้กับเจดีย์ Shwegyugyi ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกำแพงเมืองฮาลิน พบโครงกระดูกมนุษย์อย่างน้อย ๔ โครงใต้ดินราว ๒.๔-๙.๗๕ เมตร โครงกระดูก ๓ โครงหันศีรษะไปทางทิศเหนือ เหมือนกับที่แหล่งโบราณคดี Nyaunggan cemetery ส่วนอีกโครงหันไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ที่นี่เราได้พบภาชนะดินเผาจำนวนมากที่ฝังร่วมกับโครงกระดูก รวมทั้งแจกันทรงกลมขนาดเล็กจำนวนมาก และหม้อมีเชิงมีหู ซึ่งคล้ายกับพบที่แหล่งโบราณคดี Nyaunggan cemetery เช่นเดียวกัน[๑๗]

แหล่งโบราณคดี Hnaw Kan อยู่ในหมู่บ้าน Hnaw Kan ซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำสาขาของ Samon river จากการขุดค้นได้พบหลุมฝังศพถึง ๘๔ หลุม ๗๖ โครงกระดูก บางโครงพบร่วมกับกระดูกขาหน้าและขาหลังของม้า บางโครงพบเครื่องที่อุทิศให้ศพคือ เนื้อสัตว์บริเวณปลายเท้าและอีกหลุมพบแก้วทรงกลมที่บริเวณปลายเท้า โครงกระดูกส่วนใหญ่หันศีรษะไปทางทิศเหนือ โบราณวัตถุอื่น ๆ ที่พบร่วม เช่น ขวานเหล็ก หัวหอก และดาบ[๑๘]

แหล่งโบราณคดี Ywa-din-gon ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งโบราณคดี Hnaw Kan พบหลุมฝังศพถึง ๑๕๐ หลุม ๖๗ โครงกระดูกพบในหลุมฝังศพอาณาบริเวณกว้างราว ๓๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ ตารางเมตร ร่องรอยของการอยู่อาศัยและแหล่งฝังศพพบโบราณวัตถุ สามารถกำหนดอายุได้ราวยุคโลหะตอนปลายหรือราวยุคเหล็กตอนต้น บางโครงกระดูกพบร่องรอยของโลงศพไม้ ได้พบ ๘ หลุมฝังศพที่ฝังโกศเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ราว ๒-๔ ใบ บรรจุโครงกระดูกเด็ก บางหลุมก็ฝังศพในโลงไม้ นอกจากนั้น ยังพบการฝังศพครั้งที่ ๒ ด้วย ซึ่งพบเครื่องอุทิศให้กับศพร่วมด้วยในบางหลุม ศีรษะของโครงกระดูกทั้งหมดหันไปทางทิศตะวันออก ส่วนหลุมฝังศพทางทิศตะวันออกของแหล่งโบราณคดีนี้ ศีรษะของโครงกระดูกทั้งหมดก็หันไปทางทิศตะวันออก ส่วนหลุมทางทิศตะวันตก หันศีรษะของโครงกระดูกไปทางทิศเหนือ โครงกระดูกทางทิศตะวันตกพบว่าฝังร่วมกับโบราณวัตถุที่ทำจากหินคาร์เนเลียนและเหล็ก โดยลักษณะของโบราณวัตถุกลุ่มนี้ น่าจะใช้อยู่ในช่วงก่อนยุคเหล็ก กำหนดอายุได้ราว ๔๐๐-๒๐๐ B.C.[๑๙]

แหล่งโบราณคดี Myo Hla เป็นหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ห่างจาก Yamethin ที่นี่ได้รับการขุดค้นทางโบราณคดีในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ จากการขุดค้นพบว่าเป็นที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่ยุค Neolithic จนปัจจุบัน โบราณวัตถุสมัยพยูพบได้ที่นี่ เช่น เหรียญเงินรูปพระอาทิตย์ หลุมขุดค้นที่ ๑ (Site NO.1) ซึ่งอยู่ในบริเวณหมู่บ้าน พบหลุมฝังศพจำนวน ๓๐ หลุม อีกราว ๒๐ หลุมพบโครงกระดูกจัดวางเป็นกลุ่มๆ ตัวอย่างโบราณวัตถุที่พบ เช่น ลูกปัดทำจากหินมีค่า หินคาร์เนเลียน กระดูกสัตว์หรือแก้ว โครงกระดูกบางโครงสวมกำไลกระดูกสัตว์รูปทรงกลมหรือกำไลงาช้างบนข้อมือข้างขวา หรือบางโครงกระดูก สวมปลอกแขนทำด้วยงาช้างทั้งสองข้าง นอกจากนั้นยังพบกำไลทำจากแก้ว ลูกปัดหินคาร์เนเลียน ชามทรงเตี้ยพบร่วมกับโครงกระดูก และแจกันทรงสูงพบที่ปลายเท้าวางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก ที่แหล่งโบราณคดีนี้พบเนื้อสัตว์รวมถึง ซี่โครง ขาหรือเท้าของวัวด้วยเช่นกัน ภาชนะที่ฝังศพของที่นี่มี ๓ รูปแบบด้วยกันคือ โลงที่แกะจากไม้ทั้งท่อน ศพที่ห่อด้วยตาข่ายไม้ไผ่และศพที่บรรจุในไหดินเผา ซึ่งการใช้ไหบรรจุกระดูกนี้คล้ายกับวัฒนธรรมซาหุญของเวียดนามซึ่งเชื่อมโยงกับกลุ่ม Austronesian วัฒนธรรมซาหุญนี้กำหนดอายุได้ราว ๖๐๐ B.C. ถึงช่วงพันปีแรกในคริสตกาล กำหนดอายุใกล้เคียงกับโบราณวัตถุที่พบในวัฒนธรรม Samon[๒๐] การกำหนดอายุของวัฒนธรรม Samon นี้สันนิษฐานว่าอายุราว ๗๐๐BC.-๓๐๐AD. คือราว ๗๐๐ ปีก่อนคริสตกาลจนถึง ๓๐๐ ปีหลังคริสตกาล[๒๑]

ประเทศกัมพูชา การขุดค้นทางด้านโบราณคดีที่พบร่องรอยของการอยู่อาศัยของมนุษย์ในกัมพูชาและเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งคือ แหล่งโบราณคดี Samrong Sen สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่อาศัยตั้งแต่ราว ๒,๓๐๐ ปี – ๕๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล[๒๒]

แหล่งโบราณคดีที่น่าสนใจและแสดงถึงร่องรอยของแหล่งฝังศพในยุคเหล็ก (Iron Age) ของกัมพูชาคือ ที่ Phum Snay บริเวณอังกอร์ โบเรย (Angkor Borei) ได้ขุดค้นทางโบราณคดีและพบแหล่งฝังศพและที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ในยุคเหล็ก ที่นี่ได้พบโครงกระดูกสวมหมวกสำริดเลี่ยมทอง และอาวุธทำจากสำริดและเหล็กจำนวนมาก รวมทั้งเครื่องประดับประเภทหินคาร์เนเลียน อาเกตและทองที่น่าจะมาจากแหล่งอื่น โครงกระดูกที่พบหนึ่งนั้นคือ โครงกระดูกทารกซึ่งหันศีรษะไปทางทิศใต้สวมกำไลข้อมือทำจากงาช้างและบริเวณปลายเท้าพบแจกันดินเผาจำนวนมาก[๒๓]

แหล่งโบราณคดีที่หมู่บ้าน Prohear  จังหวัด Prey Veng[๒๔] เป็นแหล่งโบราณคดีที่พบแหล่งฝังศพในยุคเหล็กอันเป็นการยืนยันให้เห็นถึงร่องรอยของยุคก่อนฟูนันในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้     หมู่บ้าน Prohear village ในจังหวัด Prey Veng ตั้งอยู่ห่างจากเมืองพนมเปญไปทางทิศตะวันออกราว ๖๕ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากชายแดนเวียดนามทางทิศตะวันตกไปราว ๔๐ กิโลเมตร

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ค้นพบแหล่งโบราณคดีฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงความร่ำรวยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่หมู่บ้าน Prohear ที่ซึ่งถูกบุกรุกและลักลอบขุดโดยชาวบ้าน ซึ่งโบราณวัตถุชิ้นสำคัญได้แก่ โบราณวัตถุประเภท เงิน ทอง และกลองสำริด ถูกขายไปตามร้านขายของเก่า อย่างไรก็ตามที่นี่ก็เป็นแหล่งฝังศพขนาดใหญ่และเป็นแหล่งอพยพของผู้คนจาก Guizhou, Yunnan, Guangxi and Giao-chi ผู้ซึ่งอพยพหนีจากการคุกคามจากพวกฮั่นที่ขยายอำนาจมาในราว ๒๐๐ ปีก่อนคริสตกาลจนถึง ๔๓ ปีหลังคริสตกาล

ตัวอย่างของหลุมฝังศพ ที่ขุดค้นพบในหมู่บ้านแห่งนี้ได้แก่ หลุมฝังศพ ๒ กลุ่ม กำหนดอายุได้แตกต่างกันจากร่องรอยของการอยู่อาศัยและของที่อุทิศให้กับศพ กลุ่มที่ ๑ กำหนดอายุได้ราว ๕๐๐- ๒๐๐ ปีก่อนคริสตกาล โดยพบโครงกระดูก ๕ โครง หันศีรษะไปทางทิศตะวันออกหรือทิศใต้ โดยฝังร่วมกับไหอีก ๗ ใบ โครงกระดูกกลุ่มนี้ไม่พบโบราณวัตถุที่ทำด้วยทองหรือเงิน พบเพียงเครื่องประดับที่ทำจากหินมีค่าเท่านั้น เช่น ลูกปัดหินการ์เนต กำไลสำริดและเหล็ก ส่วนกลุ่มที่ ๒ มีจำนวนทั้งหมด ๖๔ หลุม กำหนดอายุได้ราว ๑๕๐-๑๐๐ ปีก่อนคริสตกาล จนถึง ๑๐๐ ปีหลังคริสตกาล โดยโครงกระดูกหันศีรษะไปทางทิศใต้ หรือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เครื่องอุทิศให้กับศพในกลุ่มนี้พบต่างหูทำจากวัสดุธรรมชาติ สร้อยข้อมือสำริด เครื่องมือหรืออาวุธที่ทำจากเหล็ก ลูกปัดทำจากหินการ์เนต ทั้งยังพบกลองสำริดและโบราณวัตถุที่ทำจากสำริดอื่น ๆ จากจีนตอนใต้หรือตอนเหนือของเวียดนาม เช่น เซรามิก และเครื่องประดับทำด้วยทองคำและเงิน       นอกจากนั้น หลุมฝังศพอื่น ๆ ที่พบในหมู่บ้านแห่งนี้ โครงกระดูกมักจะนอนหงายเหยียดยาว โดยจะหันศีรษะไปทางทิศใต้ หรือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ วางแขนแนบกับลำตัวหรือวางบนอก

จากการศึกษาแหล่งโบราณคดีฝังศพที่หมู่บ้าน Prohear นี้ แสดงให้เห็นถึงจำนวนหลุมฝังศพมากกว่าพันหลุมที่ถูกลักลอบขุดและบุกรุก แต่อย่างไรก็ตาม ร่องรอยของโบราณวัตถุที่พบและโครงกระดูกที่เหลืออยู่ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแหล่งโบราณคดีนี้และอยู่ในช่วงของวัฒนธรรมสมัยก่อนพระนคร (The Pre Angkor period) ได้เป็นอย่างดี

 

แหล่งโบราณคดีที่พบประเพณีการฝังศพมนุษย์ในประเทศไทย

          ยุคหินกลางในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ ๑๑,๐๐๐ ปี ถึง ๘,๕๐๐ ปีมาแล้ว ที่ถ้ำพระ ตำบลไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี โดยคณะสำรวจก่อนประวัติศาสตร์ไทย-เดนมาร์ก ได้ขุดค้นหลักฐานของคนสมัยหินกลาง ๒ อย่างคือ โครงกระดูกคนสมัยหินกลาง และ เครื่องมือหินกะเทาะที่ประณีตของคนสมัยหินกลาง เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ ได้ขุดค้นพบโครงกระดูกคนสมัยหินกลาง ๑ โครง โดยโครงกระดูกนั้นนอนหงายชันเข่าอยู่บนก้อนหินก้อนใหญ่แท่งหนึ่งในแนวเกือบขนานกับผนังเพิงผา นอนหันหน้าไปด้านขวามือ ศีรษะหันไปทางทิศเหนือ ฝ่ามือขวาอยู่ใต้คาง แขนท่อนซ้ายวางพาดอก ที่บริเวณส่วนบนของร่างและบริเวณทรวงอก มีหินควอทซ์ไซท์ก้อนใหญ่วางทับอยู่ กระดูกแขนขาบอบบาง มีหินควอทซ์ไซท์ทับอยู่ที่โครงกระดูก ทำให้โครงกระดูกบางตอนบุบผิดผิดรูปไป ดินตอนที่อยู่เหนือศีรษะและร่างมีดินสีแดงคลุมอยู่ แสดงว่าในครั้งนั้น มีพิธีกรรมเกี่ยวกับการฝัง การใช้ดินสีแดง (ดินเทศ) อันหมายถึงสีเลือดและชีวิตโปรยร่างผู้ตาย ในสมัยหินกลางนี้เป็นประเพณีทำกันอยู่ตลอดแหลมมลายูและหมู่เกาะอินโดนีเซีย ในทวีปยุโรปศพคนสมัยหินกลางก็อยู่ในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว หรือนอนตะแคงเข่างอจดคางและมักจะฝังไว้ใต้ที่อยู่ ส่วนดินสีแดงนั้นในทวีปยุโรปที่ศพคนสมัยหินเก่าตอนปลายและสมัยหินกลางนั้น นอกจากจะมีดินสีแดงโปรยไว้เหนือโครงกระดูกคนแล้ว บางแห่งยังใช้ดินสีแดงทาไว้ที่กระดูกคนตายด้วย สิ่งของที่ฝังไว้กับศพคือ มีท่อนกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม วางอยู่บนทรวงอก เปลือกหอยกาบวางอยู่ที่บนร่างหรือใกล้กับร่างในลักษณะที่วางหงายอยู่ บางทีวางซ้อนกันอยู่เป็นกองสูงขึ้นมา

คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เริ่มฝังศพมาตั้งแต่สมัยหินเก่าตอนต้น เฉพาะในประเทศไทย ยังไม่พบหลุมศพคนสมัยหินเก่า ประเพณีการฝังศพสมัยหินเก่าตอนปลายและสมัยหินกลางนั้นไม่ต่างกันมากนัก ศพจะฝังอยู่ในลักษณะคล้ายท่านอน บางศพก็นอนหงายเหยียดท่าตรง บางศพนอนตะแคงเข่างอเกือบถึงคาง ร่างของผู้ตายโดยเฉพาะจะมีแผ่นหินวางป้องกันอยู่ นอกจากนี้ยังใส่อาหาร เครื่องมือหรือของอื่น ๆ ลงไปให้ศพด้วยเช่น ดินแดง เปลือกหอย เครื่องรางและเครื่องประดับ เพราะเชื่อว่าผู้ตายจำเป็นต้องใช้สิ่งดังกล่าวระหว่างเดินทางไปยังเมืองผี และเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้กลับมีชีวิตขึ้นอีก ทั้งจะเป็นเครื่องบอกฐานะของตนเมื่อไปถึงยังอีกโลกหนึ่ง[๒๕]

ยุคหินใหม่ ในประเทศไทย คือระหว่าง ๓,๘๗๙ ปี ถึง ๑,๖๓๐ ปี โครงกระดูกพบที่ ตำบลกลางแดด อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ แต่ได้ถูกชาวบ้านเผาทำลาย จากการสอบถามทราบว่าพบขวานหิน กำไลหิน หินงบน้ำอ้อย เครื่องปั้นดินเผา ลูกปัดทำด้วยเปลือกหอย และลูกปัดทำด้วยกระดูกสัตว์ปะปนอยู่กับกระดูกคน และที่บ้านนาดี โนนนกทา ตำบลบ้านโคก อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ได้ขุดพบโครงกระดูกคนสมัยหินใหม่ในชั้นดินระดับที่ ๑ การฝังศพคนสมัยหินใหม่ที่บ้านนาดีมีดังนี้ คือ ศพนอนหงายเหยียดยาว ฝ่ามืออยู่ข้างตัว เท้าอยู่ใกล้กัน ศีรษะหันไปทางทิศตะวันออก สิ่งที่ฝังร่วมกับศพคือ ลูกปัดรูปแว่นขนาดเล็ก ทำด้วยกระดูก พบที่ข้อศอก ข้อมือ และรอบเอว นอกจากนั้นยังพบลูกปัดหินขัดทำเป็นรูปหลอดใหญ่ ๓ ลูก  ส่วนของที่ใส่ลงไปในหลุมมีกะโหลกศีรษะสัตว์ กระดูกสัตว์ท่อนยาว เครื่องปั้นดินเผาที่สมบูรณ์หรือทุบให้แตก ลักษณะของของที่ใส่ลงไปในหลุมและการจัดวางแตกต่างกัน

ในการขุดค้นของคณะสำรวจกรมศิลปากร-มหาวิทยาลัยฮาไว เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ ที่บริเวณโนนนกทา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น พบหลุมศพของคนสมัยหินใหม่ มีทั้งศพผู้ใหญ่และเด็ก หลุมศพเด็กมีของใส่ลงไปมากกว่าของผู้ใหญ่ มักจะเอาหมา หมู และสัตว์กินเนื้อหรือสัตว์ที่กินทั้งเนื้อและกินหญ้าบางชนิดใส่ร่วมด้วย นอกจากนั้นยังมีลูกปัดทำด้วยกระดูก เส้นผ่าศูนย์กลางของลูกปัด มีลักษณะเป็นแว่นประมาณ ๕ มม. พวกลูกปัดนี้พบอยู่รอบตะโพก ส่วนกะโหลกหันไปทางทิศใต้

ที่หนองแช่เสา ตำบลหินกอง อำเภอเมือง ราชบุรี คณะสำรวจก่อนประวัติศาสตร์ไทย-เดนมาร์ก สำรวจเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙ พบศพ ๒ ศพนอนเคียงกัน แต่ศีรษะอยู่ใกล้เท้าของอีกศพหนึ่ง ใกล้ ๆ โครงกระดูก มีขวานหินขัดและเครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับมีลูกปัดทำด้วยเปลือกหอย ของที่พบในบริเวณที่ขุดค้นมีขวานหินขัด ๑๓ ชิ้น จักรหิน ๑ ชิ้น เครื่องขูดขนาดเล็กทำด้วยสะเก็ดหิน ๑ ชิ้น เปลือกหอยกาบ ๕ ชิ้น

ที่โคกเจริญ อำเภอไชยบาดาล จังหวัดลพบุรี คณะสำรวจโบราณคดีไทย- อังกฤษ ขุดค้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙ และ พ.ศ.๒๕๑๐ พบหลุมศพ ๕๐ หลุม ศีรษะหันไปทางทิศตะวันออกหรือทิศใต้ ของที่ใส่ลงไปหลุม มีขวานหินขัดขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลูกปัดทำด้วยเปลือกหอย กำไลและเครื่องประดับหูทำด้วยเปลือกหอย เครื่องปั้นดินเผาอยู่ที่เหนือศีรษะและปลายเท้า เครื่องปั้นดินเผามีร่องรอยแสดงว่าทุบให้แตกเมื่อฝังลงไป

ที่กาญจนบุรีพบโครงกระดูกหินสมัยหินใหม่จำนวนมาก เช่น บริเวณกรมการสัตว์ทหารบก อำเภอเมืองกาญจนบุรี โครงกระดูกที่พบหันศีรษะหลายทิศทาง ยกเว้นทิศตะวันออกและทิศตะวันตก โดยคนสมัยหินใหม่ที่บ้านเก่าไม่ฝังศพหันไปทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เด็กให้ฝังโดยหันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้หรือทิศใต้ หญิงนิยมหันไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกเฉียงใต้ก็มีบ้าง ชายนิยมหันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศเหนือไม่นิยม[๒๖]

ทิศทางในการฝัง  ทิศทางที่ศีรษะของโครงกระดูกหันไปทิศใดนั้น มักจะเป็นแนวชี้ทางที่คนตายจะไป เมื่อวิญญาณเคลื่อนออกจากร่าง ซึ่งอาจจะไปสู่ที่หมายสุดของวิญญาณ หรือเป็นที่ซึ่งอยู่ไกลจากที่อยู่ในโลกมนุษย์และไกลออกจากคนเป็น เช่น ในอินโดนีเซีย จะฝังศพให่หันไปทางทิศตะวันตก เพราะเขาเชื่อว่า จะมีโพรงที่จะลงไปสู่เมืองบาดาล[๒๗] พวกเซมังในประเทศมาเลเซีย เชื่อว่าคนตายจะไปสู่แดนที่มีต้นสน ณ ที่นั้นจะมีโพรง ซึ่งอาทิตย์จะตกลงไปในเวลากลางคืน เป็นต้น ดังนั้นในหลาย ๆ วัฒนธรรมล้วนมีความเชื่อว่าคนตายจะต้องเดินทางไปยังดินแดนหลังความตาย จึงพบว่าการฝังศพโดยหันศีรษะไปยังทิศทางใดทิศทางหนึ่งนั้น จึงมีความหมายและความเชื่อประกอบอยู่ด้วย

สิ่งของเครื่องใช้ที่ฝังร่วมกับโครงกระดูก   การฝังศพนั้นใส่อาหาร เครื่องใช้และเครื่องประดับลงไปด้วย เพราะเชื่อว่าผู้ตายยังต้องใช้ของเหล่านี้ พวกซาไกในแหลมมลายู เชื่อว่าก่อนที่วิญญาณจะเดินทางไปสู่อีกโลก วิญญาณจะอยู่ที่หลุมชั่วระยะหนึ่ง การไปยุ่งเกี่ยวกับเครื่องใช้ของผู้ตายจะทำให้ผู้ตายโกรธแค้น ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยสิ่งของที่ฝังลงไป จึงต้องทำพิธีทำลายสิ่งของเหล่านั้นเสีย[๒๘]

บางแห่งนิยมฝังสิ่งของของผู้ตายลงไปและฝังสิ่งที่ยังมีชีวิตลงไปด้วย เช่น นอกสุสานของกษัตริย์สุเมเรียนที่ เออร์ (Ur) มีโครงกระดูกคน ๖๒ โครง ที่ในสุสานก็มีคนฝังลงไปด้วยอย่างน้อย ๓ คน เป็นต้น[๒๙] หรืออาจเป็นการจำลองของจริงฝังร่วมด้วย เพราะเชื่อว่าผู้มีอิทธิฤทธิ์ที่จะใช้ของจำลองได้เท่ากับของจริง เช่น ที่อียิปต์ เป็นภาพเขียน ส่วนในจีนกลับใช้เครื่องปั้นดินเผาแทน[๓๐]

ประเพณีการฝังสิ่งของแก่ผู้ตายนี้ แสดงออกซึ่งความห่วงใยของคนเป็นและความกลัวของผู้ตาย เพราะไม่ต้องการให้ผู้ตายเกิดความหิว หรือความเคียดแค้น  คนเป็นจึงใส่เครื่องรางหรือของที่มีอำนาจลงไปในหลุมด้วย

ส่วนของประเทศไทยสมัยหินใหม่ที่กาญจนบุรี พบว่า มีประเพณีที่ใส่สิ่งของเครื่องใช้ลงไปให้ศพด้วย คงมีความเชื่อเช่นเดียวกันว่าผู้ตายอาจจะต้องการสิ่งของเหล่านั้น ของที่เลือกใส่ลงไป ก็เลือกแต่ชิ้นที่ยังสมบูรณ์ไม่แตกหัก ของที่ใส่ลงไปมีดังนี้ เครื่องปั้นดินเผา ขวานหิน อาวุธ เครื่องประดับ และของอื่น ๆ เครื่องปั้นดินเผามักจะวางไว้เหนือศีรษะ ปลายเท้า ระหว่างตักกับหัวเข่า จำนวนอย่างน้อย ๑ ใบ มากสุด ๑๒ ใบ[๓๑]

ยุคสำริด เมื่อคนตาย ญาติจะฝังลงไปในหลุมที่แคบและตัน ศพจะนอนอยู่ใต้กองเศษเครื่องปั้นดินเผา ของที่ใส่ลงไปในหลุมศพ มีภาชนะดินเผา ซึ่งมีขนาดเล็กและมีจำนวนน้อยใบ ศีรษะของศพจะอยู่ที่มุมหนึ่ง อีกมุมหนึ่งจะมีกระดูกวัววางอยู่ บางรายกระดูกขาวัววางทับร่างส่วนล่างขึ้นมาจนถึงกระดูกเชิงกราน นอกจากนั้นยังพบเครื่องปั้นดินเผา กำไลทำจากเปลือกหอย หรือกำไลสำริดขวานสำริด โดยตำแหน่งหัวขวานทำมุมในลักษณะที่มีด้ามและอยู่ในมือขวาของศพ ศพส่วนใหญ่ฝังนอนหงาย ศีรษะหนุนภาชนะดินเผา[๓๒] ศีรษะหันไปทางทิศตะวันออกและทิศตะวันออกเฉียงใต้

ยุคโลหะตอนปลายที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี ทุกศพหันไปทางทิศเหนือ ที่อำเภอทัพทัน อุทัยธานี ทุกศพหันไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ที่จันเสน อำเภอตาคลี นครสรรค์ หันไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ที่ถ้ำงวงช้าง อำเภอเชียงดาว เชียงใหม่ หันไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ สิ่งของที่ฝังไปกับศพมีเครื่องปั้นดินผา อาวุธ เช่น หอก และขวาน วางไว้ที่เหนือศีรษะหรือปลายแขน นอกจากนั้นยังมีดินเผากะเทาะเป็นแผ่นกลมคล้ายเบี้ยที่ใช้เล่นโยนหลุมทอยกอง ลูกดินเผาคล้ายกระสุนและแวดินเผาลงไป บางศพพบลูกพรวนสำริดด้วย[๓๓]

 

แหล่งโบราณคดีที่พบประเพณีการฝังศพมนุษย์ในภาคเหนือ

สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น การทำศพในแหล่งโบราณคดีถ้ำงวงช้าง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ คณะสำรวจโบราณคดี-ไทยอังกฤษ ได้ดำเนินงานทางโบราณคดีบริเวณถ้ำงวงช้าง ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้พบโครงกระดูกมนุษย์ ๒ โครง โครงกระดูกโครงแรกขนานกับผนังถ้ำ หันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือนอนหงายราบ เหนือศีรษะพบก้อนหินขนาดใหญ่ ๑ ก้อน พบเขี้ยวหมูป่า ๒ เขี้ยว อยู่รวมกับเศษกระดูกสัตว์และเศษภาชนะดินเผาใกล้กับศีรษะ บริเวณคางพบลูกปัดหินรูปทรงกระบอก ๒ เม็ด และก้อนหินขนาดเล็ก ๓ ก้อน โครงกระดูกโครงที่ ๒ ถูกฝังให้นอนราบลงกับพื้น หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โครงกระดูกไม่สมบูรณ์ บริเวณแขนขวาพบเครื่องมือเหล็ก ๒ อัน ใต้เท้าของโครงกระดูกที่ ๒ พบขวานสำริดเป็นขวานมีบ้อง ๑ อัน โบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้น ได้แก่ เครื่องมือเหล็ก ลูกปัดหิน ลูกปัดเปลือกหอย เครื่องมือหินรูปกลม เจาะรูตรงกลาง โบราณวัตถุที่พบร่วมกับโครงกระดูก นำมากำหนดอายุได้ว่าอยู่ในสมัยโลหะ นอกจากนี้ ยังได้พบภาชนะดินเผาประเภทหม้อมีกระดูกมนุษย์บรรจุอยู่ภายใน มีฝาปิดและไม่มีฝาปิดอีกด้วย[๓๔]

การทำศพในแหล่งโบราณคดีเพิงผาช้าง วนอุทยานออบหลวง เขตติดต่ออำเภอฮอดและอำเภอจอมทอง เชียงใหม่[๓๕] ลักษณะหลุมฝังศพ เป็นรูปร่องยาวหรือรูปไข่ วางตัวตามแนวยาวในแกนตะวันออก-ตะวันตก ความยาวประมาณ ๒.๐๐ เมตร กว้าง ๐.๗๕-๐.๘๕ เมตร โครงกระดูกที่พบอยู่ในสภาพผุเปราะมาก กระดูกต่าง ๆ เหลืออยู่ไม่ครบทั้งร่าง ที่ก้นหลุมตรงตำแหน่งของกะโหลกศีรษะ พบกลุ่มฟันจำนวน ๓๒ ซี่ อยู่ในสภาพค่อนข้างแห้งเปราะมีปูนเกาะโดยรอบ กระดูกส่วนอื่น ๆ ยังคงสภาพอยู่บ้าง ชิ้นส่วนกระดูกยาวบางชิ้นปะปนอยู่กับเศษภาชนะดินเผา

เครื่องประกอบหลุมศพ นอกจากม้วนแถบสำริดสองอันและก้อนดินเทศ ที่พบบริเวณเหนือตำแหน่งกระดูกเชิงกรานและต้นขาแล้ว สิ่งที่พบมากที่สุดคือ ภาชนะดินเผาอย่างน้อยที่สุด ๑๔ ใบ ประกอบด้วยภาชนะมีฐานสูงคล้ายพานและภาชนะก้นกลม รูปแบบของการตกแต่งบนผิวภาชนะดินเผาค่อนข้างเรียบ

ลักษณะของหลุมฝังศพ โครงกระดูกหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก การพบลูกปัดบริเวณตำแหน่งคอ การสวมกำไลสำริดและกำไลเปลือกหอยที่ปลายแขนแต่ละข้างเป็นจำนวนเลขคู่ นอกจากนี้ยังมีภาชนะดินเผาฝังร่วมอยู่เฉพาะบริเวณใต้เข่าลงไปจนจรดปลายเท้า และก็ดูเหมือนว่ามีจำนวนมากและหนาแน่น และสำริดม้วนกลม ที่พบระหว่างกระดูกต้นขา อาจจะบอกถึงความเชื่อหรือประเพณีในการจงใจทำลายของก่อนใส่ในหลุมฝังศพ

การทำศพในแหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมน ตำบลสบป่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน[๓๖]โบราณวัตถุที่พบได้แก่ โลงรูปเรือ (Boat Coffins) ลักษณะเป็นท่อนไม้ทั้งต้น ผ่าครึ่งตามแนวยาว ขุดถากเป็นรูปเรือ แต่ไม่มีกง ส่วนหัวและท้ายตัดมากเป็นแกนโค้งยื่นออกไป บนผิวโลงมีร่องรอยเครื่องมือขุดและถากหน้าคมหนาโค้ง ส่วนใหญ่เป็นไม้สัก ขนาดความยาวตั้งแต่ ๓.๘๗-๔.๗๔ เมตร โบราณวัตถุที่พบคือชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ส่วนใหญ่เป็นหม้อกลม ลายเชือกทาบและแบบผิวเรียบขัดมัน และ กระดูกมนุษย์ พบเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กในโลงบางใบ ส่วนใหญ่พบตามผิวดิน

ในการสำรวจพบว่าโลงทุกใบว่างเปล่า ไม่มีแม้แต่กระดูกคนหรือเครื่องสังเวยศพหลงเหลืออยู่ อาจเป็นเพราะว่าศพที่ใส่ไว้ในโลงไม้เป็นระยะเวลานาน ๆ นับร้อยปี กระดูกส่วนต่าง ๆ เสื่อมสภาพและสลายตัวไป หรืออาจถูกสัตว์กัดกินได้ง่ายกว่าการฝังในดิน ส่วนเครื่องประกอบศพนั้นอาจจะไม่ได้ใส่ไว้ในโลง หรือใส่ไว้แล้วถูกรบกวนภายหลัง

โลงศพลักษณะดังกล่าวนี้พบทั่วไปตามถ้ำในเทือกเขาตะนาวศรี ตั้งแต่เขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนลงไปจนถึงกาญจนบุรี ตลอดจนตามเทือกเขาสูงในเขตอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับในต่างประเทศก็พบมากในหมู่เกาะฟิลิปปินส์และแหล่งฝังศพสมัยสำริดที่เป่าหลุนหยวน , เจ้าหัว มณฑลเสฉวน ประเทศจีน การกำหนดอายุของโลงนี้ แสดงให้เห็นว่าเป็นของที่ทำในสมัยโลหะตอนปลาย และจากการเปรียบเทียบกับโลงศพแบบเดียวกันที่ขุดที่ถ้ำองบะ อำเภอศรีสวัสดิ์ กาญจนบุรี ซึ่งกำหนดอายุด้วยวิธีคาร์บอน ๑๔ ได้ประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว

สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น เช่น การทำศพในแหล่งโบราณคดีเวียงมโน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ในเมืองโบราณเวียงมโน อำเภอหางดง เชียงใหม่ ได้พบหม้อบรรจุอัฐิฝังอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก รอบ ๆ บริเวณเขตวัดและฐานพระสถูป หม้อบรรจุอัฐิแต่ละใบทำอย่างประณีต มีลายขูดขีด ภายในบรรจุอัฐิมนุษย์เผาไฟแล้ว ก้นหม้อมีการเจาะรู หม้อดังกล่าวผิดกับหม้อที่ใช้เป็นภาชนะใช้สอยประจำวัน และมีลักษณะคล้ายกับหม้อบรรจุอัฐิที่พบในเมืองไบถาโน เมืองฮาลินและเมืองศรีเกษตรของชาวพยู ซึ่งมักจะฝังหม้อบรรจุอัฐิ ริมกำแพงเมืองหรือเขตวัด[๓๗]

ในส่วนของหม้อบรรจุกระดูกหรืออัฐินั้น มีหลายแบบหลายขนาด ทำขึ้นด้วยฝีมือประณีต บนผิวหม้อมีลายขูดขีด บางใบเขียนลง บางใบใช้กดประทับก่อนนำไปเผา หม้อบางใบมีการทาสีลงไปแทนการขูดขีด และหม้อบางใบใช้สีเลือดหมูทาเป็นต้น บางใบมีการเจาะรูตรงก้น เพื่อให้น้ำไหลออกมาจากหม้อที่บรรจุอัฐิได้ ส่วนใหญ่พบเต็มใบหรือครึ่งใบฝังอยู่ในดินและมีอัฐิรวมอยู่ด้วยเสมอ ที่บ้านนายแก้วดี หลวงอินตา พบหม้ออัฐิฝังอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากรอบ  ๆ ฐานพระเจดีย์

ชาวหริภุญไชยนิยมฝังอัฐิไว้ในเขตวัดหรือรอบ ๆ บริเวณฐานพระสถูป ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับวิธีการของชาวพยูในเขตพม่าแต่โบราณ ในการขุดค้นทางด้านโบราณคดีของพม่าที่เมืองไบถาโน เมืองฮาลิน และเมืองศรีเกษตร ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๑๔ ได้พบหม้ออัฐิเป็นจำนวนมาก ฝังอยู่ตามริมกำแพงเมืองและในเขตพระสถูปเจดีย์ หม้ออัฐิบางใบมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับที่พบในเมืองโบราณของแคว้นหริภุญไชย โดยเฉพาะคติในการเผาศพคนตายแล้วนำอัฐิบรรจุฝังหม้อตามริมกำแพงเมืองและเขตวัด[๓๘]

 

แนวคิดที่ใช้ในการวิเคราะห์

การปลงศพเป็นพิธีกรรมที่มนุษย์จงใจสร้างขึ้น หลักฐานจากหลุมฝังศพสามารถทำให้เข้าใจเรื่องราว แบบแผนพฤติกรรมความเชื่อ ประเพณีและรูปแบบของการฝังศพของคนในอดีตได้ และทำให้ทราบถึงทัศนคติ ประเพณีและความเชื่อที่มีต่อความตายของคนในวัฒนธรรมนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร ความเชื่อดังกล่าวจะเป็นตัวกำหนดรายละเอียดและรูปแบบของพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย รวมไปถึงสิ่งของที่อุทิศให้

ในส่วนของการศึกษารูปแบบสัญลักษณ์ในพิธีกรรมปลงศพ บินฟอร์ดเสนอว่า[๓๙] ควรศึกษาภายในบริบททางสังคมนั้น เพราะรูปแบบสัญลักษณ์แต่ละอย่างแม้จะเหมือนกัน แต่อาจใช้ในความหมายที่แตกต่างกันโดยอิสระ เขาเสนอให้วิเคราะห์พิธีกรรมปลงศพในบริบทความผันแปรทางสังคมและความซับซ้อนของสังคมนั้น ๆ

ส่วนการศึกษาพิธีกรรมปลงศพจากหลักฐานทางโบราณคดี มีแนวทางในการศึกษาดังนี้[๔๐]

๑) การศึกษาเพื่อจัดลำดับอายุสมัยวัฒนธรรม นับเป็นการศึกษาโดยตรงจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นได้เป็นหลัก วิธีการศึกษานี้ถือได้ว่าเป็นวิธีการขั้นพื้นฐานที่นักโบราณคดี ที่ทำการขุดค้นแหล่งโบราณคดีทุกแหล่งต้องทำเป็นอันดับต้น ๆ หลังจากทำการขุดค้นแล้วเสร็จ

๒) การศึกษาเพื่อผลการตีความในด้านระบบองค์รวมทางวัฒนธรรม ถือได้ว่าเป็นผลการศึกษาโดยทางอ้อมจากพิธีกรรมปลงศพ ระบบองค์รวมทางวัฒนธรรมประกอบด้วย ระบบความเชื่อและศาสนา ระบบการดำรงชีพ ระบบการจัดระเบียบทางสังคม ระบบเทคโนโลยี และระบบการตั้งถิ่นฐาน

นอกจากนั้น ความหลากหลายของประเภทแหล่งปลงศพ สามารถนำมาตีความได้ ดังที่ Brothwell [๔๑] เสนอว่า รูปแบบการฝังศพ สามารถจำแนกออกได้เป็น ๕ รูปแบบคือ ฝังเฉพาะบางส่วนของร่างกาย รวมไปถึงฝังในภาชนะชนิดต่าง ๆ   , ฝังแบบนอนเหยียดยาว แต่ทิศทางในการหันศีรษะแตกต่างกัน , ฝังแบบคุดคู้โดยที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายถูกฝังอยู่ด้วยกัน , ฝังศพที่โครงสร้างร่างกายไม่เป็นไปตามหลักกายวิภาค และการฝังแบบอื่น ๆ ซึ่ง Brothwell กล่าวว่า ความหลากหลายนี้สามารถนำมาใช้บอกถึงความแตกต่างของกลุ่มคนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ณ บริเวณนั้น ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันได้

 

 

ผลการวิเคราะห์

          ๑) การเปลี่ยนแปลงคติเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องวิญญาณ ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์เชื่อในเรื่องวิญญาณหลังความตาย จึงต้องเซ่นไหว้ทำพิธีกรรม โดยในพิธีกรรมนั้น จะมีการโรยร่างกายด้วยดินเทศสีแดง ฝังศพในทิศทางที่ยังไม่เป็นแบบแผนเท่าใดนัก และมีของที่ต้องอุทิศให้กับศพ  ส่วนในสมัยประวัติศาสตร์ เริ่มปรากฏการอุทิศส่วนกุศลทำบุญไปให้ผู้ตายในโอกาสต่างๆ เพื่อแสดงความอาลัยรักแก่ผู้ตาย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา ดังนั้นจึงปรากฏว่าในแหล่งโบราณคดีบางแหล่ง ยังพบทั้งการฝังและการเผา และนำกระดูกไปบรรจุในภาชนะทั้งสองแบบผสมผสานกัน เช่นที่ ถ้ำงวงช้าง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

๒) สถานที่ฝังศพ พบว่าในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มักจะฝังโครงกระดูกภายในถ้ำและฝังในดินและในไห ส่วนในสมัยประวัติศาสตร์เริ่มมีการเผาและนำเฉพาะกระดูกบรรจุไว้ในภาชนะ แล้วจึงนำไปฝังในบริเวณเขตวัดหรือฐานพระสถูป

๓) รูปแบบการฝังศพ ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นการฝังครั้งที่ ๑  โดยมีลักษณะการนอนหงายเหยียดยาวและนอนตะแคง แขนสองข้างอาจแนบลำตัวหรือวางทับบนหน้าท้อง ใบหน้าตั้งตรงหรือหันตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง  นอกจากนั้นยังพบการฝังร่วมกับการเผาด้วย รูปแบบของการฝังศพที่น่าสนใจในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยังพบการฝังศพในภาชนะดินเผา โดยเฉพาะในวัฒนธรรมซาหุญ ประเทศเวียดนาม เป็นวัฒนธรรมการฝังศพในไหขนาดใหญ่และพบเฉพาะในวัฒนธรรมซาหุญนี้เท่านั้น ส่วนในสมัยประวัติศาสตร์จะเป็นการเผา แล้วนำกระดูกหรืออัฐิบรรจุในภาชนะแล้วฝัง ซึ่งลักษณะรูปแบบของการฝังศพที่หลากหลายนี้  Brothwell กล่าวว่า ความหลากหลายนี้สามารถนำมาใช้บอกถึงความแตกต่างของกลุ่มคนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ณ บริเวณนั้น ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันได้

๔) ทิศทางในการฝัง ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์พบว่าหันไปในทุกทิศทาง ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน สำหรับทิศเหนือพบในแหล่งฝังศพของประเทศเวียดนามและประเทศกัมพูชา ส่วนสมัยประวัติศาสตร์ ไม่สามารถระบุได้เนื่องจาก เป็นการเผาแล้วนำกระดูกมาบรรจุในภาชนะ

๕) ความเชื่อในการใส่ของอุทิศ ความเชื่อในการใส่ของอุทิศให้ศพนั้น ต่างมีความเชื่อที่คล้ายคลึงกันคือ เชื่อว่าผู้ตายจะนำไปใช้ในโลกหน้า เพราะเชื่อว่าผู้ตายยังต้องการอาหาร เครื่องมือในการดำรงชีวิต และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และน่าจะหมายถึงความเชื่อในเรื่องการเกิดใหม่ จึงมีคติในการอุทิศของให้ศพ ของเหล่านั้นส่วนใหญ่จะต้องผ่านกรรมวิธีการทำลายก่อนที่จะฝังร่วม มีบางเหมือนกันที่ฝังโดยมีลักษณะสมบูรณ์ เช่น ปลายหอก ปลายดาบ มักจะหักงอ หรือภาชนะดินเผาก็มักจะทุบและวางไว้บนศพหรือวางไว้ข้าง ๆ ศพนั้น สุรินทร์ ภูขจรกล่าวว่า การทุบเครื่องมือเครื่องใช้นั้น เป็นพิธีที่เชื่อกันว่า ไม่ให้ผู้ตายกังวลกับสิ่งของของตน[๔๒]  นอกจากนั้น ของที่อุทิศให้กับศพยังแสดงให้เห็นถึงความร่ำรวยหรือชนชั้นของโครงกระดูกนั้น ๆ ว่ามีสถานะทางสังคมอย่างไร ดังเช่น แหล่งโบราณคดีฝังศพของประเทศกัมพูชาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่หมู่บ้าน Pro hear ที่พบเครื่องอุทิศให้แก่ศพเป็นของมีค่าจำนวนมาก เช่น โบราณวัตถุประเภททอง เงิน และกลองสำริด เป็นต้น

๖) พิธีกรรมในการฝังศพ  เป็นการจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความตาย หรือเป็นการแสดงถึงร่องรอยของกิจกรรมการใช้พื้นที่บริเวณนั้นในการเซ่นสังเวยศพ  ลักษณะในการฝังศพแบบดั้งเดิมหรือการฝังศพครั้งแรกนั้น โดยทั่วไปพบในแหล่งฝังศพในสมัยหินเก่าตอนปลาย และสมัยหินกลาง รูปแบบพิธีกรรมจะเรียบง่ายไม่ซับซ้อน โดยนำศพผู้ตายวางบนพื้นดินที่เตรียมไว้ หรืออาจเก็บไว้ในถ้ำ ลักษณะการจัดวางศพไม่มีรูปแบบที่ตายตัว อาจเป็นการนอนหงายเหยียดยาว หรือนอนตะแคง นอนงอเข่าและนอนงอตัว อาจมีการมัดหรือห่อศพ จากนั้นนำดินกลมหรือก้อนหินมาทับไว้ เพื่อป้องกันการรบกวนของสัตว์ อาจมีหรือไม่มีของที่อุทิศให้กับผู้ตาย ลักษณะเช่นนี้ต่อเนื่องมาจนสมัยหินใหม่ แต่เริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น           ในสมัยหินใหม่ มีการอุทิศของให้กับผู้ตายมากขึ้น และมีการประดับร่างกายด้วยเครื่องประดับประเภทลูกปัดทำจากเปลือกหอย ลูกปัดดินเผา และกระดองเต่าเป็นต้น[๔๓] รูปแบบการฝังอาจมีการห่อด้วยเครื่องจักสาน หรือพิธีกรรมเฉพาะกลุ่ม เช่น มีการโรยข้าวบนศพก่อนการฝังกลบ

รูปแบบการฝังซับซ้อนมากขึ้นในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือยุคโลหะ นอกจากจะมีการฝังแบบเดิม ยังพบว่ามีการฝังในโลงที่ทำด้วยไม้ โดยฝังโลงไว้ในหลุม หรือนำไปเก็บไว้ตามถ้ำ ซอกหลืบต่าง ๆ นอกจากนั้นอาจมีการหักข้อมือ ข้อเท้า นำมาขัดประสานกัน ในสมัยโลหะนี้ยังพบการปลงศพในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ ซึ่งเราเรียกว่าการฝังศพครั้งที่ ๒ อีกลักษณะคือ การบรรจุกระดูกทั้งโครงไว้ในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ จากนั้นประกอบพิธีกรรมการปลงศพ โดยแยกกระดูกเป็นส่วน ๆ และนำบรรจุในภาชนะดินเผา หรือใส่ไปทั้งโครง โดยเฉพาะกระดูกเด็กทารก[๔๔]

ดังนั้นหากเราเชื่อตามแนวคิดที่ว่า  มนุษย์มีวิธีการจัดการกับความตายในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปภายใต้กรอบของวัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา และสภาพแวดล้อมรอบตัว พัฒนาการของพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย  จึงมีพัฒนาการที่เห็นเป็นลำดับรูปธรรมที่ชัดเจน ส่งผลให้มนุษย์มีการปฏิบัติกับความตายโดยผ่านคติความเชื่อที่หลากหลายรูปแบบตามแต่ละพื้นที่ แต่ละวัฒนธรรม

จากการศึกษาประเพณีในการฝังศพของชุมชนโบราณในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงนี้ ทำให้เราได้ทราบถึงคติ ความเชื่อ พิธีกรรม เกี่ยวกับการตายและประเพณีการฝังศพตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ ว่ามีลักษณะอย่างไร และมีพัฒนาการ หรือการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ภายใต้กรอบของคติ ความเชื่อ สภาพแวดล้อมของแต่ละวัฒนธรรม แม้พิธีกรรมจะแตกต่างกัน แต่อย่างน้อยก็อยู่ภายใต้คติความเชื่อที่เหมือนกันคือ ความเชื่อในเรื่องของความตายและวิญญาณของผู้ตาย ที่จะเดินทางไปสู่โลกหน้าอย่างสมบูรณ์

 

บรรณานุกรม

ภาษาอังกฤษ

Reinecke, Andreas., Laychour, Vin., and Seng Sonetra. (2009.) The first Golden age of Cambodia: Excavation at Prohear. Retrieved January 5, 2012, from Website: http://www.dainst.org/en/project/prohear?ft=all.

Coe’s, Michael D. (2004.) Angkor and the Khmer civilization. Singapore: Thames&Hudson.

Higham, Charles. (2002.) Early Cultures of Mainland Southeast Asia. Thailand: River books.

Moore, Elizabeth H. (2007.) Early Landscapes of Myanmar. Thailand: River books.

ภาษาไทย

กรมศิลปากร. (๒๔๙๑.) ประเพณีเก่าของไทย ประเพณีเนื่องในการตาย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

กรมศิลปากร. (๒๕๓๑.) โบราณคดีสี่ภาค. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

โขมสี แสนจิตต์. (๒๕๕๒.) เมืองโบราณหริภุญไชย จากหลักฐานโบราณคดี. วิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ชิน อยู่ดี. (๒๕๑๒.) คนก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : คุรุสภา.

ประพิศ พงศ์มาศ. (๒๕๕๑.) “พัฒนาการการปลงศพ : ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์จากหลักฐานโบราณคดี,” ใน งานโบราณคดีใต้ร่มพระบารมีปกเกล้า. ๑๒-๑-๑๒-๕. กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ปรานี วงษ์เทศ. (๒๕๓๔.) พิธีกรรมเกี่ยวกับการตายในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง.

ผาสุข อินทราวุธ. (๒๕๔๘.) สุวรรณภูมิจากหลักฐานโบราณคดี. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์.  (๒๕๕๑.) “พิธีกรรม “กล่องหิน” หรือ “โลงหิน” ที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบจังหวัดตาก กับการตีความทางโบราณคดี,” ใน งานโบราณคดีใต้ร่มพระบารมีปกเกล้า. ๑๔-๑-๑๔-๒๙. กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

พิสิฐ เจริญวงศ์. (๒๕๑๕.) “พิธีศพในประเทศไทยสมัยก่อนประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ตอนต้น,”. วารสารโบราณคดี. ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๒ (ตุลาคม, ๒๕๑๕) : ๑๗๙-๑๘๙.

ดุจฤดี คงสุวรรณ์. (๒๕๔๔.) การศึกษาพิธีกรรมปลงศพ ณ แหล่งโบราณคดีค่ายประตูผา อำเภอแม่ทะ     จังหวัดลำปาง. วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

เทือง สกุลดี. (๒๕๑๘.) “ความเชื่อของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียง,” วารสารโบราณคดี. ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๑ (กรกฎาคม, ๒๕๑๘) : ๒๙-๔๕.

นฤพล หวังธงชัยเจริญ.  (๒๕๕๑.) “การฝังศพทารกในภาชนะดินเผา : แหล่งโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีใน บ้านเชียง,” ใน งานโบราณคดีใต้ร่มพระบารมีปกเกล้า. ๑๗-๑-๑๗-๑๓. กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

นวรัตน์ แก่อินทร์.  (๒๕๔๒.) การวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์และประเพณีการฝังศพที่ปราสาทพนมวัน อำเภอเมือง นครราชสีมา. วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สุกัญญา เบาเนิด.  (๒๕๕๑.) “โบราณคดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้,” ใน งานโบราณคดีใต้ร่มพระบารมีปกเกล้า. ๑๖-๑-๑๖-๑๓. กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สุขสวัสดิ์ ชูวิเชียร. (๒๕๓๖.) ประเพณีการฝังศพของชุมชนโบราณในลุ่มน้ำชี : กรณีศึกษาชุมชนโบราณเมืองฟ้าแดดสงยาง. วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สุรินทร์ ภู่ขจร. (๒๕๑๘.) “ประเพณีการฝังศพวัฒนธรรมบ้านเชียง,” วารสารโบราณคดี. ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๑ (กรกฎาคม, ๒๕๑๘) : ๑๖-๒๔.

สุรีรัตน์ บุบผา, กรกฎ บุญลพ, จ๊อยซ์ ซี ไวท์ และบุญเฮือง บัวสีแสงประเสิด.  (๒๕๕๑.) “โบราณคดีลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง : การสร้างภาพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ขาดหายของไทยและผืนแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้,” ใน งานโบราณคดีใต้ร่มพระบารมีปกเกล้า. ๒๗-๑-๒๗-๑๔. กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สุรพล ดำริห์กุล. (๒๕๒๘.) “อมก๋อย : แหล่งโบราณคดีล้านนาที่เพิ่งค้นพบและใกล้สูญสิ้น,” วารสารเมืองโบราณ. ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๓ (กรกฏาคม – กันยายน, ๒๕๒๘) : ๖-๑๖ .

เวียงคำ ชวนอุดม. (๒๕๔๕.) การศึกษาแบบแผนการฝังศพในภาชนะดินเผาในลุ่มแม่น้ำมูล-ชี. วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ติดตามออนไลน์ได้ที่ : http://xn--12c0bmop0abc6c1dg9c9hnc6f.blogspot.com และhttps://thailandi.wordpress.com


[๑] จบการศึกษาระดับปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ ตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิตสหวิทยาการสังคมศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

                        [๒] กรมศิลปากร, ประเพณีเก่าของไทย ประเพณีเนื่องในการตาย  (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๔๙๑), ๗.

                [๓] ปรานี วงษ์เทศ อ้างถึงใน นวรัตน์ แก่อินทร์, การวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์และประเพณีการฝังศพที่ปราสาทพนมวัน อำเภอเมือง นครราชสีมา (สาขาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๔๒), ๑๖-๑๗.

                [๔] กรมศิลปากร, ประเพณีเก่าของไทย ประเพณีเนื่องในการตาย  (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๔๙๑), ๑๕-๑๖.

                [๕] เรื่องเดียวกัน, ๔๕.

                [๖] สุรินทร์ ภู่ขจร อ้างถึงใน นวรัตน์ แก่อินทร์, การวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์และประเพณีการฝังศพที่ปราสาทพนมวัน อำเภอเมือง นครราชสีมา (สาขาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๔๒), ๑๗.

[๗] ผาสุข อินทราวุธ, (๒๕๔๘,) สุวรรณภูมิจากหลักฐานโบราณคดี, กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๓๓.

[๘] เวียงคำ ชวนอุดม, (๒๕๔๕,) การศึกษาแบบแผนการฝังศพในภาชนะดินเผาในลุ่มแม่น้ำมูล-ชี, วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๔๔-๔๕.

[๙] เรื่องเดียวกัน, ๔๕-๔๖.

[๑๐] เรื่องเดียวกัน, ๕๐.

[๑๑] Higham, Charles., (2002,) Early Cultures of Mainland Southeast Asia, Thailand: River books, 172.

[๑๒] เรื่องเดียวกัน, ๑๗๓-๑๗๔

[๑๓] เรื่องเดียวกัน, ๕๓-๕๗.

[๑๔] Nyaunggan เป็นหมู่บ้านอยู่ในเมือง Budalin เขตสะแกง (Sagaing)

[๑๕] Moore, Elizabeth H., (2007,) Early Landscapes of Myanmar, Thailand: River books, 90-93.

[๑๖] เรื่องเดียวกัน, ๑๔.

[๑๗] เรื่องเดียวกัน, ๙๗.

[๑๘] เรื่องเดียวกัน, ๑๑๙.

[๑๙] เรื่องเดียวกัน, ๑๑๙-๑๒๐.

[๒๐] เรื่องเดียวกัน, ๑๒๐-๑๒๑.

[๒๑] เรื่องเดียวกัน, ๑๒๓.

[๒๒] Coe’s, Michael D., (2004,) Angkor and the Khmer civilization, Singapore: Thames&Hudson, 48.

[๒๓] Higham, Charles., (2002,) Early Cultures of Mainland Southeast Asia, Thailand: River books, 213-215.

[๒๔] Reinecke, Andreas., Laychour, Vin., and Seng Sonetra, (2009,)The first Golden age of Cambodia: Excavation at Prohear, Retrieved January 5, 2012, from Website: http://www.dainst.org/en/project/prohear?ft=all.

                [๒๕] ชิน อยู่ดี, คนก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย  (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, ๒๕๑๒), ๑๓-๑๖.

                [๒๖] เรื่องเดียวกัน, ๒๗.

                [๒๗] เรื่องเดียวกัน, ๓๙.

                [๒๘] เรื่องเดียวกัน, ๔๒-๔๓.

                [๒๙] เรื่องเดียวกัน, ๔๕.

                [๓๐] เรื่องเดียวกัน, ๔๕.

                [๓๑] เรื่องเดียวกัน,  ๔๘-๔๙.

                [๓๒] เรื่องเดียวกัน, ๘๕-๘๘.

                [๓๓] เรื่องเดียวกัน, ๑๐๐-๑๐๑.

                [๓๔] สุขสวัสดิ์ ชูวิเชียร, ประเพณีการฝังศพของชุมชนโบราณในลุ่มน้ำชี : กรณีศึกษาชุมชนโบราณเมืองฟ้าแดดสงยาง (สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๓๖), ๑๖๔.

                [๓๕] กรมศิลปากร , โบราณคดีภาคเหนือ  : เหมืองแม่เมาะ ออบหลวง บ้านยางทองใต้  เอกสารกองโบราณคดีหมายเลข ๑๒/๒๕๓๑ ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๓๑), ๔๔-๖๑.

                [๓๖] เรื่องเดียวกัน, ๓๒-๓๔.

                [๓๗] ศรีศักร วัลลิโภดม อ้างถึงใน สุขสวัสดิ์ ชูวิเชียร, ประเพณีการฝังศพของชุมชนโบราณในลุ่มน้ำชี : กรณีศึกษาชุมชนโบราณเมืองฟ้าแดดสงยาง (สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๓๖), ๑๖๗.

                [๓๘] เรื่องเดียวกัน, ๖๙.

                [๓๙] บินฟอร์ด อ้างถึงใน ดุจฤดี คงสุวรรณ์, การศึกษาพิธีกรรมปลงศพ ณ แหล่งโบราณคดีค่ายประตูผา อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง (สาขาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๔), ๑๗.

                [๔๐] ดุจฤดี คงสุวรรณ์, การศึกษาพิธีกรรมปลงศพ ณ แหล่งโบราณคดีค่ายประตูผา อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง (สาขาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๔), ๑๘.

                [๔๑] Brothwell อ้างถึงใน ดุจฤดี คงสุวรรณ์, การศึกษาพิธีกรรมปลงศพ ณ แหล่งโบราณคดีค่ายประตูผา อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง (สาขาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๐.

                [๔๒] สุรินทร์ ภู่ขจร อ้างถึงใน นวรัตน์ แก่อินทร์, การวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์และประเพณีการฝังศพที่ปราสาทพนมวัน อำเภอเมือง นครราชสีมา (สาขาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๒), ๑๗.

                [๔๓] ประพิศ พงศ์มาศ อ้างถึงใน นวรัตน์ แก่อินทร์, การวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์และประเพณีการฝังศพที่ปราสาทพนมวัน อำเภอเมือง นครราชสีมา (สาขาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๒), ๑๘.

                [๔๔] เรื่องเดียวกัน, ๑๘-๑๙.

ใส่ความเห็น

เจ้าของบล้อก


ประเพณีไทยความเชื่อและพิธีกรรม